ประวัติวิทยาลัย

ประวัติวิทยาลัยพณิชยการบางนา

โรงเรียนพณิชยการบางนา

 

               โรงเรียนพณิชยการบางนาจัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ขณะนั้น  (นายสุกิจ นิมมานเหมินท์) ได้นำเรื่องกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้จัดสรรเงินงบประมาณพิเศษเพื่อจัดตั้งโรงเรียนพณิชยการเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่  28 เมษายน 2512  เป็นจำนวนเงิน 16,000,000 บาท (สิบหกล้านบาทถ้วน) คณะรัฐมนตรีได้ลงมติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2512 ให้ผูกพันงบประมาณประจำปี 2513 ได้และได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเรื่อง  ที่ดินสร้างโรงเรียนควรจะเป็นกรรมสิทธ์ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างแท้จริง

คุณชนะ  รุ่งแสงได้ทราบเจตนาของกระทรวงศึกษา  ในอันที่จะหาที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนใหม่จึงได้ชี้ชวนบิดามารดา  และญาติพี่น้องแห่งตระกูล  “รุ่งแสง” และ  “รุ่งเรือง”  เห็นความสำคัญของการศึกษาวิชาชีพจนกระทั่ง  คุณบุญนาค-คุณสุเทพ รุ่งแสง  คุณบุญรอด-คุณเหรียญ  รุ่งเรือง   คุณเพิ่ม-คุณละออ  รุ่งเรือง ได้พร้อมใจกันบริจาคที่ดินที่แขวงบางนา  เขตบางนาเป็นจำนวนเนื้อที่ 11 ไร่ 23 ตารางวา ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการสร้างโรงเรียนพณิชยการแห่งใหม่  และยังยินยอมให้ใช้ที่ดินสร้างถนนเข้าบริเวณโรงเรียนอีกด้วย

เมื่อได้ที่ดินแล้ว  กรมอาชีวศึกษา  ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจ และเตรียมดำเนินการก่อสร้างทันทีโดยให้ออกแจ้งความเรียกประกวดราคา สร้างอาคารต่าง ๆ  รวม 10 รายการ คือ อาคารเรียน  3  หลัง โรงอาหาร 1 หลัง บ้านพักภารโรง 3  หลัง  สนามบาสเกตบอล 1 สนาม  รั้วลวดหนามรอบบริเวณ  และถนนพร้อมทั้งได้ติดตั้งไฟฟ้า  ประปา  และครุภัณฑ์ต่างๆ  ซึ่งปรากฏว่ามีผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 15,850,000 บาท (สิบห้าล้านแปดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) กำหนดแล้วเสร็จใน 210 วัน กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้กรมอาชีวศึกษา เซ็นสัญญาก่อสร้างได้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2512  ซึ่งจะครบกำหนดแล้วเสร็จในวันที่  27  เมษายน  2513

ขณะที่การก่อสร้างได้ดำเนินการอยู่นั้น  ปรากฏว่าได้มีผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจในโรงเรียนแห่งใหม่นี้มากมาย กรมอาชีวศึกษาจึงได้เปิดรับสมัครนักเรียนในเดือนเมษายน 2513 จำนวน  840  คน  เพื่อสนองความต้องการของประชาชนที่มาร้องเรียนเป็นจำนวนมาก  เพราะคาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จภายในกำหนดเวลาโดยมอบหมายให้โรงเรียนพณิชยการพระนคร  โรงเรียนวัดพระเชตุพนตั้งตรงจิตรวิทยาลัย  โรงเรียนพณิชยการธนบุรี  โรงเรียนบพิตรพิมุข  (ในสมัยนั้น)  ทำการรับสมัครและสอบคัดเลือกให้

            กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งโรงเรียนแห่งนี้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2513 ให้ชื่อว่า “โรงเรียนพณิชยการบางนา”  สังกัดกองโรงเรียนพาณิชย์และอุตสาหกรรม  กรมอาชีวศึกษา    ซึ่งขณะนั้น อาคารของโรงเรียนพณิชยการบางนายังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงต้องใช้สถานที่สมาคม  นักเรียนเก่าพณิชยการในบริเวณโรงเรียนพณิชยการพระนคร (ขณะนั้น) ทำการมอบตัวจนถึงวันที่  10  มิถุนายน  2513  กรมอาชีวศึกษาได้แต่งตั้ง  ดร.ไพศาลย์  จามรมาน  อาจารย์เอกวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรก

อย่างไรก็ตามโรงเรียนพณิชยการบางนาก็ได้คำนึงถึงการเรียนการสอน  เพราะการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจึงได้ติดต่อหาสถานที่เรียนชั่วคราว  และใช้สถานที่โรงเรียนนานาชาติลาดพร้าว ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 1 สิงหาคม 2513 แล้วย้ายมาทำการเรียนการสอนสถานที่เรียนใหม่เป็นอาคารชั่วคราวหลังคาจากฝาเสื่อลำแพน ซึ่งตั้งอยู่ติดกับการก่อสร้างอาคารถาวร จนถึงสิ้นปีการศึกษา  2513  และเนื่องจากสถานที่ไม่อำนวยการสอบไล่ประจำปี  2513  จึงต้องไปสอบที่โรงเรียนวัดธาตุทอง  ส่วนการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในปีการศึกษา 2514  ต้องไปดำเนินการที่โรงเรียนดุสิตพณิชยการอีกครั้งหนึ่ง

อาคารเรียนได้สร้างเสร็จตามสัญญาในเดือนพฤษภาคม  2515 โรงเรียนได้เข้าใช้อาคารเรียน หลังใหม่ และได้พิธีเปิดอาคารเรียนเมื่อวันที่ 18  ธันวาคม 2515 โดย ฯพณฯ สุกิจ  นิมมานเหมินท์  เป็นประธานในพิธี

“ยกฐานะเป็นวิทยาลัย”

               เนื่องจากผลการเรียนการสอน  และชื่อเสียงของโรงเรียนพณิชยการบางนา  ในด้านระเบียบวินัย  ความประพฤติของนักเรียน ประกอบกับความต้องการของประชาชนที่จะศึกษาต่อ    ในระดับ สูงขึ้นมีจำนวนมาก  กรมอาชีวศึกษาจึงได้ประกาศยกฐานะ  โรงเรียนพณิชยการบางนาขึ้นเป็น “วิทยาลัยพณิชยการบางนา”   เมื่อวันที่  4  มิถุนายน  2517  เปิดสอนนักเรียนและนักศึกษา    2 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  (ม.ศ.6)  สายอาชีพ  และระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) นับเวลาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการสอนจนเปลี่ยนระดับยกฐานะเป็นวิทยาลัยในเวลาเพียง  4  ปีเท่านั้น

เมื่อโรงเรียนได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัย ดร.ไพศาลย์  จามรมาน อาจารย์ใหญ่ ได้รับการแต่งตั้งเป็น  “ผู้อำนวยการวิทยาลัย”  นับเป็นบุญกุศลมหาศาลของวิทยาลัยพณิชยการบางนา และเป็นหนี้บุญคุณต่อตระกูล   “รุ่งแสง”  และ  “รุ่งเรือง”  เป็นอย่างมากที่ได้กรุณาบริจาคที่ดินให้จัดตั้งโรงเรียนพณิชยการบางนา   ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วของชาวพณิชยการบางนา  และในโอกาสที่ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัย   คุณบุญนาค-คุณสุเทพ  รุ่งแสง  ยังมีศรัทธาต่อการศึกษาวิชาชีพจึงได้มอบที่ดินให้แก่วิทยาลัยฯ  อีก  4  ไร่  โดยมอบให้  คุณชนะ  รุ่งแสง  (บุตร)  เป็นผู้ดำเนินการ

เมื่อวันที่  19  พฤษภาคม  2518  กรมอาชีวศึกษาได้แต่งตั้ง นายสำลี บุษสาย อาจารย์เอกวิทยาลัยพณิชยการพระนคร  (ขณะนั้น)  มารักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยสืบแทน ดร.ไพศาลย์  จามรมาน  ซึ่งขอย้ายไปประจำกรม  เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์

เมื่อวิทยาลัยพณิชยการบางนาได้รับมอบที่ดินเพิ่มเติมจำนวน 4 ไร่ ดังกล่าวแล้ว กรมอาชีวศึกษาได้ขอตั้งงบประมาณจำนวน 15 ล้านบาท ในงบประมาณปี 2519 เพื่อทำการก่อสร้างอาคารเรียนและในการดำเนินการประกวดราคานั้น ผู้ประกวดราคาได้ในวงเงิน 15,300,000 บาท (สิบห้าล้านสามแสนบาทถ้วน) วิทยาลัยฯ จึงได้นำเงินบำรุงการศึกษาจำนวน 300,000 บาท  (สามแสนบาทถ้วน)  เข้าสมบทในการก่อสร้างและในวันที่  4  พฤษภาคม  2519 ได้เรียนเชิญคุณบุญนาค-คุณสุเทพ รุ่งแสง  คุณละออ รุ่งเรือง  มาเป็นพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหลังใหม่  4  ชั้น ในที่ดินดังกล่าว

การดำเนินงานและบริหารราชการของวิทยาลัยพณิชการบางนาในระหว่างปี พ.ศ. 2518  เป็นระยะเวลา  8  ปีเศษ  ซึ่งมีนายสำลี  บุษสาย  เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ นั้นได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนถึงวันที่ 1  ตุลาคม  2526  กรมอาชีวศึกษาได้มีคำสั่งโยกย้ายและสับเปลี่ยนผู้บริหารวิทยาลัยฯ  โดยแต่งตั้งให้  นายสำลี   บุษสาย  ไปเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการธนบุรีและให้  ดร.ศรีสง่า   กรรณสูต  ผู้อำนวยการวิทยาลัยอินทราชัย  มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา  แต่เนื่องจาก  ดร.ศรีสง่า  กรรณสูต ได้ลาออกจากราชการเพื่อไปประกอบอาชีพส่วนตัว จึงทำให้ตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนาว่างลง

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 กรมอาชีวศึกษาได้แต่งตั้งให้ นายประทีป  ปฐมกสิกุล  มาดำรงตำแหน่ง  ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา  และต่อมาได้มีการประกวดราคาก่อสร้างอาคาร 6 ชั้น ในวงเงินประมาณ 10,542,000 บาท (สิบล้านห้าแสนสี่หมื่นสองพันบาทถ้วน) และใน พ.ศ. 2528  กรมอาชีวศึกษา ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน 7 ไร่ 2 งาน 95  ตารางวา ด้วยเงินบำรุงการศึกษาในราคา 12,380,000 บาท (สิบสองล้านสามแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด  22  ไร่ 3 งาน 18  ตารางวา และในปีการศึกษา 2529 วิทยาลัยพณิชยการบางนาได้รับโล่เกียรติยศจากกรมอาชีวศึกษา ให้เป็น “สถานศึกษาเร่งรัดพัฒนาดีเด่น”

วันที่ 1 ตุลาคม 2530 กรมอาชีวศึกษา ได้แต่งตั้งให้ นายพิพัฒน์  บุญญาสัย มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา และในปีการศึกษา 2531 วิทยาลัยฯ ได้รับโล่รางวัลจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยให้เป็น “ห้องสมุดดีเด่นของกรมอาชีวศึกษา” และได้รับโล่รางวัล “การจัดกิจกรรมจริยศึกษาดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ” พร้อมทั้งได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกเป็นสถานศึกษาดีเด่นของกองวิทยาลัยอาชีวศึกษากลุ่มภาคกลางอีกด้วย

ในปีการศึกษา 2532 วิทยาลัยฯ ได้จัดสร้างพระพุทธรูปประจำวิทยาลัยขึ้น โดยตั้งชื่อว่า  “พระพุทธสิริศิกษกบางนามหามงคล” โดยมีผู้บริจาคค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 264,505.50 บาท  (สองแสนหกหมื่นสี่พันห้าร้อยบาทห้าสิบสตางค์) และได้อนุมัติจัดสร้างอาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติ 7 ชั้น ขึ้น  1 หลัง ในวงเงินงบประมาณ 28,270,000 บาท (ยี่สิบแปดล้านสองแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) และเงินบำรุงการศึกษา 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,270,000 บาท (สามสิบแปดล้านสองแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติด้านการตลาด บัญชี คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ และเลขานุการ  นอกจากนี้ยังได้ของอนุมัติจัดสร้างคูหาลูกเสือวิสามัญ 1 หลัง ในวงเงินงบประมาณ 2,100,000 บาท (สองล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน)  เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำการของกองลูกเสือของวิทยาลัยพณิชยการบางนา

วันที่  1  ตุลาคม  2534  กรมอาชีวศึกษา ได้แต่งตั้งให้ นายไพโรจน์  ปวะบุตร มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา และในปีการศึกษา 2535 วิทยาลัยฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “สถานศึกษาดีเด่นของกรมอาชีวศึกษา”

วันที่ 1 ตุลาคม 2536 กรมอาชีวศึกษา ได้แต่งตั้งให้ นายวิเชิด  ผาสุข มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา  และได้จัดสร้างโรงอาหารและหอประชุมขึ้น 1 หลัง        มีพื้นที่ 4,800  ตารางเมตร โดยได้รับงบประมาณ 25,792,000  บาท (ยี่สิบห้าล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นสองพันบาทถ้วน)

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 กรมอาชีวศึกษา ได้แต่งตั้งให้ นายสมนึก  แตงสกุล มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา ได้จัดสร้างอาคารเรียนและห้องปฏิบัติการอาคาร  7 ชั้น 1 หลัง มีพื้นที่ 6,000 ตาราเมตร โดยได้รับงบประมาณ  38,350,000   (สามสิบแปดล้านสามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และบ้านพักครูแบบแฟลต 14  หน่วย 1 หลัง โดยได้รับงบประมาณ 5,700,000                     (ห้าล้าน เจ็ดแสนบาทถ้วน)  เป็นงบผูกพันจนกระทั่ง  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2539  กรมอาชีวศึกษาได้แต่งตั้งให้  นายสุเทพ  เจนาคม มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 กรมอาชีวศึกษา ได้แต่งตั้งให้ นายเสมอ  เหมพงศ์พันธุ์   มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา  และได้จัดสร้างเสาธงสูง  21 เมตร ราคา 300,000  บาท และพระบรมราชานุเสาวรีย์รัชกาลที่  6 โดยได้รับเงินบริจาคจากผู้ปกครองและเงินกิจกรรมวิทยาลัยและก่อตั้งมูลนิธิ  4  มูลนิธิ คือ  มูลนิธิดร.ไพศาลย์ จามรมาน,  มูลนิธินายเพิ่ม-นางละออง รุ่งเรื่อง, มูลนิธินายบุญนาค-นางสุเทพ  รุ่งแสง,  มูลนิธิผู้ใหญ่ละเมียด-คุณแม่เล็ก  บุญเฟื่องฟู

วันที่ 15 มกราคม 2546 กรมอาชีวศึกษา ได้แต่งตั้งให้ นายปฎิเวธ  พึ่งอุบล มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนาและได้จัดสร้างห้อง  “ศูนย์บางนาอินเตอร์เน็ต”  เพื่อให้ครู,  เจ้าหน้าที่และนักเรียนนักศึกษา  เข้าใช้บริการค้นหาข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ต  โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยพณิชยการบางนา และได้ดำเนินโครงการจัดสร้างสำนักงาน E-Office ไว้(แต่ยังไม่แล้วเสร็จ)

วันที่  10  พฤศจิกายน  2552  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้แต่งตั้ง ดร. อรสา  รามโกมุท  มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา

วันที่  2  ตุลาคม  2553  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่งตั้งให้นายปฏิเวธ  พึ่งอุบล  กลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนาอีกครั้งหนึ่ง และถือเป็นการเปิดใช้งานและให้บริการแก่นักเรียนนักศึกษาในส่วนของ E-Office

วันที่  4  ธันวาคม  2560  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้แต่งตั้ง นายประเสริฐ จันโททัย  มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา

ปีการศึกษา 2561 วิทยาลัยพณิชยการบางนาเริ่มจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของแผนกวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นแผนกวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ

“สถานศึกษารางวัลพระราชทาน”

ปีการศึกษา 2561 วิทยาลัยพณิชยการบางนาเข้ารับการประเมิน สถานศึกษารางวัลพระราชทาน วันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 นายประเสริฐ จันโททัย อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา(ขณะนั้น) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่ เข้ารับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานรางวัลเเก่นักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2561 ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันที่ 2 ธันวาคม 2562  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้แต่งตั้ง นายวรรณยุทธ จิตสมุทร  ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา

วันที่ 1 ตุลาคม 2565  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้แต่งตั้ง นางสาวรุ่งนภา ปุณยานุเดช  ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา